รีไฟแนนซ์บ้าน เพื่อการลงทุน : โอกาส และความเสี่ยงที่อาจต้องเจอใครๆ ก็อาจจะคิดว่า การ รีไฟแนนซ์บ้าน เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ใช้ในการจัดการ และลดภาระหนี้สินเชื่อบ้าน แต่สำหรับบางคน การรีไฟแนนซ์บ้าน ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเลือกในการลดอัตราดอกเบี้ย หรือเพิ่มระยะเวลาการชำระหนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการลงทุนอีกด้วย ซึ่งถ้าเอ่ยถึงเรื่องการลงทุน เรื่องควรรู้อย่างยิ่งคือ โอกาสทางการเงินที่จะได้รับ และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อการลงทุน วันนี้…เรารวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาให้แล้ว ตามไปดูกันค่ะ
โอกาสจากการรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อการลงทุน
การรีไฟแนนซ์บ้านจะช่วยเพิ่มโอกาสเพื่อการลงทุนได้อย่างไรบ้าง
1. การลดอัตราดอกเบี้ย
ประเด็นหลักของ การรีไฟแนนซ์บ้าน คือการเพิ่มโอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายรายเดือน และช่วยให้ผู้กู้เหลือเงินสำหรับใช้จ่ายรายเดือนมากขึ้น รวมทั้งสามารถนำเงินที่เหลือไปลงทุนในส่วนอื่นๆได้เพิ่มขึ้น หรือพูดง่ายๆ คือจะสามารถประหยัดเงินในการชำระหนี้และเพิ่มเงินออมที่สามารถนำไปลงทุนได้นั่นเองค่ะ เช่น หากเรารีไฟแนนซ์บ้านจากอัตราดอกเบี้ย 4% เป็น 3% คุณอาจทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายรายเดือนลงได้หลักพันบาท ก็สามารถนำเงินที่ประหยัดได้ไปลงทุนแบบ DCA ในหุ้น หรือลงทุนในกองทุนได้ เป็นต้น
2. ได้รับเงินเพิ่ม จากการรีไฟแนนซ์บ้านเพิ่มวงเงิน (Cash-Out Refinance)
เป็นการขอวงเงินเพิ่มเติมจากการรีไฟแนนซ์บ้าน โดยวงเงินที่เราจะสามารถกู้เพิ่มได้จะมาจากส่วนต่างของราคาบ้านกับยอดหนี้คงเหลือจากธนาคารเดิม ซึ่งเมื่อรวมทั้งหมดแล้วจะต้องไม่เกินราคาประเมินบ้าน การรีไฟแนนซ์บ้านเพิ่มวงเงินจะทำให้เรามีเงินสดเหลือเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง และสามารถนำไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ได้ ซึ่งอาจทำให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าต้นทุนดอกเบี้ยที่จ่ายไป
3. สร้างโอกาสให้มีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อเพิ่มมูลค่าได้
เงินส่วนต่างที่ได้จากการรีไฟแนนซ์บ้าน หรือการรีไฟแนนซ์บ้านเพิ่มวงเงิน เราสามารถนำไปใช้ในการรีโนเวทบ้านเพื่อเพิ่มมูลค่าของบ้าน และสามารถนำไปขายต่อได้ในราคาที่สูงขึ้น หรืออาจจะปล่อยให้เช่าในราคาที่ดีกว่าเดิมได้ เช่น หากมีการปรับปรุงบ้านให้ห้องต่างๆ ภายในบ้านอยู่ในสภาพดีขึ้น ทันสมัยขึ้น ก็จะดึงดูดผู้เช่าหรือผู้ซื้อที่มีศักยภาพสูงขึ้น ทำให้ได้ราคาที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น
ความเสี่ยงจากการรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อการลงทุน
การรีไฟแนนซ์บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการลงทุน หรือเพื่อการอยู่อาศัย ก็จะมีความเสี่ยงเรื่องต่างๆ ตามมาอยู่แล้ว วันนี้เราขอสรุปให้สั้นๆ ว่ามีเรื่องอะไรที่ควรต้องระมัดระวัง หรือควรคิดคำนวณให้ดีก่อนตัดสินใจบ้าง
1. ความเสี่ยงจาก ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการรีไฟแนนซ์บ้าน
หากคิดจะรีไฟแนนซ์บ้าน ต้องมีการเตรียมในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ หลายประเภท เช่น ค่าธรรมเนียมการดำเนินการ ค่าประเมินค่าบ้าน และค่าอากรสแตมป์ ค่าจดจำนอง เป็นต้น ซึ่งหากเงินต้นเหลือน้อยมากแล้ว หรือข้อเสนอดอกเบี้ยธนาคารใหม่ที่จะรีไฟแนนซ์ไปไม่ได้ต่ำลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อาจทำให้การรีไฟแนนซ์ไม่คุ้มค่าในระยะสั้นก็เป็นได้ ดังนั้น ควรคิดคำนวณให้ดี ก่อนตัดสินใจ โดยอาจใช้โปรแกรมคำนวณสำเร็จรูปจากเว็บไซต์ของธนาคาร หรือแอปพลิเคชันคำนวณสินเชื่อต่างๆ
2. ความเสี่ยงจาก การเพิ่มหนี้สิน
ในกรณีที่มีการรีไฟแนนซ์เพิ่มวงเงิน และนำเงินส่วนต่างที่ได้ไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ หรือเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจก็ตาม แต่เกิดไม่ประสบความสำเร็จ อาจทำให้ต้องรับภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ได้
3. ความเสี่ยงจาก การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย
หากเป็นช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น การเลือกรีไฟแนนซ์ด้วยอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อาจทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ต้นทุนการชำระหนี้แต่ละเดือนก็จะสูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจส่งผลต่อเงินที่คิดจะนำไปลงทุน เพราะหากต้องชำระหนี้มากกว่าแผนที่วางไว้ก็จะทำให้เงินส่วนที่จัดสรรไว้เพื่อลงทุนลดลงไปด้วยนั่นเองค่ะ ดังนั้น ควรทำความเข้าใจเรื่องของอัตราดอกเบี้ยให้ดีก่อนตัดสินใจ รีไฟแนนซ์บ้าน
4. ความเสี่ยงจาก การลงทุน
การนำเงินไปลงทุนในธุรกิจใดๆ ก็ตาม มักมีความเสี่ยงเกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะหากลงทุนในธุรกิจฝหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ แล้วเกิดกรณีการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เกิดปัญหาด้านการจัดการ อาจส่งผลให้เกิดการขาดทุน หรือไม่สามารถคืนเงินกู้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจลงทุนในธุรกิจใด ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจทุกครั้ง และความประเมินความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เราสามารถยอมรับได้นะคะ
สรุปแล้ว การรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อการลงทุน ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มกระแสเงินสด และใช้เงินทุนที่มีในการลงทุนที่มีกำไรสูงขึ้นได้ แต่ก็ควรทำความเข้าใจโอกาส และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย รวมทั้งอาจจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าการรีไฟแนนซ์ และการลงทุน จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และสร้างผลประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพนะคะ