หมอประจำบ้าน: โรคแอคติโนมัยโคซิส (Actinomycosis)Actinomycosis หรือโรคแอคติโนมัยโคซิส เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียแบบเรื้อรังหรือแบบที่เกิดอาการอย่างช้า ๆ สามารถพบได้ตามอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณปาก จมูก ลำคอ ปอด และช่องท้อง โดยอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันออกไปตามตำแหน่งของการติดเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยจะติดเชื้อนี้จากรอยแตกของผิวหนังหรือเยื่อบุอวัยวะ
แม้ว่าโรคนี้จะมีความรุนแรง แต่พบได้ยากและไม่ติดต่อจากคนไปสู่คนด้วยกัน อีกทั้งยังสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะซึ่งอาจกินระยะเวลานานหลายเดือนจนถึงหลายปี ในบางกรณีอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น
อาการของ Actinomycosis
เนื่องจากโรค Actinomycosis เกิดขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่ติดเชื้อ เช่น
คอและใบหน้า : เป็นส่วนที่พบได้มากที่สุดหรือประมาณ 50–70% อาจทำให้เกิดก้อนที่มักไม่สร้างความเจ็บปวดปวดบริเวณแก้ม รอบกราม หรือคอ มีปัญหาในการเคี้ยว กรามค้าง มีหนองไหลจากรูเปิดที่ผิวหนัง หรือมีไข้
ปอด : ส่วนนี้พบได้ประมาณ 15–20% อาจทำให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ไอ มีเสมหะ หรือมีหนองไหลตามรูเปิดที่ผิวหนัง
ช่องท้อง : พบได้ประมาณ 10–20% อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องผูก ปวดท้อง น้ำหนักตัวลดลง มีก้อนหรืออาการบวมบริเวณท้อง และมีหนองไหลหากมีรูเปิดที่ผิวหนัง
อุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อย : มักพบได้น้อยมาก อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้องส่วนล่าง ตกขาวผิดปกติหรือเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ มีก้อนหรืออาการบวมบริเวณท้องส่วนล่าง
สาเหตุของ Actinomycosis
Actinomycosis เป็นผลจากการติดเชื้อแบคทีเรียในสกุล Actinomycetaceae โดยสายพันธุ์ที่พบการติดเชื้อในคน ได้แก่ A. israelii, A. naeslundii, A. viscosus และ A. odontolyticus ซึ่งโดยธรรมชาติจะอาศัยอยู่ภายในร่างกายอย่างบริเวณช่องปาก โพรงจมูก หรือช่องคลอดโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ทว่าหากเชื้อผ่านเข้าสู่เยื่อบุอวัยวะซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่คอยปกป้องอวัยวะดังกล่าวไปได้ก็อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อตามมา
โดยปัจจัยดังต่อไปนี้อาจไปเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ Actinomycosis ให้มากขึ้นได้
การติดเชื้อที่คอและใบหน้า อาจเกิดจากฝีในช่องปากหรือฟันผุ การผ่าตัดภายในช่องปาก การบาดเจ็บบริเวณใบหน้าหรือช่องปาก เนื้อเยื่อถูกทำลายจากโรคมะเร็งหรือการฉายรังสี
การติดเชื้อที่ปอด เป็นผลจากการสำลักอาหาร ทำให้เชื้อแบคทีเรียก่อโรคนี้ติดเชื้อที่บริเวณปอด
การติดเชื้อในช่องท้อง อาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบและแตกในช่องท้อง โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ การผ่าตัดช่องท้อง หรือการรับประทานสิ่งแปลกปลอมอย่างกระดูกไก่หรือก้างปลา
การติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือท้องน้อย มักเกิดในผู้ที่ใส่ห่วงอนามัยนานเกินกำหนด
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากการใช้ยาหรือป่วยด้วยโรคบางชนิด และปัญหาร่างกายขาดสารอาหารที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรค Actinomycosis เช่นกัน
การวินิจฉัย Actinomycosis
เบื้องต้น แพทย์จะตรวจร่างกายและสอบถามอาการที่เกิดขึ้น และอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการเก็บตัวอย่างของเหลวอย่างหนอง เสมหะ หรือเนื้อเยื่อในบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ เพื่อส่งตรวจหรือเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ
อาจร่วมกับการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณที่ติดเชื้อ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นโรค Actinomycosis จริง ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน อาทิ โรคมะเร็ง วัณโรค หรือการติดเชื้อแบคทีเรียโนคาร์เดีย (Nocardiosis)
การรักษา Actinomycosis
แพทย์มักรักษาผู้ป่วย Actinomycosis ด้วยยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) มักเป็นชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดและตามด้วยชนิดรับประทาน ส่วนยาชนิดอื่นที่มีการนำมาใช้ก็เช่น ยาเตตราไซคลิน (Tetracycline) ยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) หรือยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) โดยส่วนใหญ่แล้วต้องได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องระบายหนองที่อยู่ลึกออกหรือผ่าตัดนำส่วนที่เกิดรอยโรคออก เพื่อลดโอกาสในการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากการใช้ห่วงอนามัย แพทย์จะนำห่วงอนามัยออกเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อได้อีก
ภาวะแทรกซ้อนของ Actinomycosis
หากไม่ได้รับการรักษา Actinomycosis ในอวัยวะต่าง ๆ อย่างเหมาะสม กระดูกที่อยู่โดยรอบอาจได้รับผลกระทบและเกิดการติดเชื้อไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องผ่าตัดเอากระดูกที่ติดเชื้อออกในท้ายที่สุด และแม้จะพบได้น้อยมาก แต่ Actinomycosis ที่เกิดขึ้นในโพรงจมูกอาจแพร่ไปสู่สมองและก่อให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ด้วย
การป้องกัน Actinomycosis
แม้ Actinomycosis จะเป็นปัญหาสุขภาพที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่เราควรป้องกันตัวเองหรือลดความเสี่ยงของโรคนี้อยู่เสมอ เช่น หมั่นดูแลสุขภาพในช่องปากให้สะอาดและแข็งแรง ตรวจสุขภาพฟันกับทันตแพทย์ทุก 6 เดือน ออกกำลังกาย และรักษาสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ห่วงอนามัยและใช้ตามระยะเวลาที่กำหนด