หมอประจำบ้าน: โรคอารมณ์แปรปรวน (Mood disorders) โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)โรคซึมเศร้า (โรคซึมเศร้าหลัก) จัดเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน* ที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกซึมเศร้าหดหู่อย่างรุนแรงกว่าปกติ เรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ และมักมีความคิดอยากตาย ส่งผลให้มีอาการผิดปกติทางกาย ใจ และพฤติกรรมต่าง ๆ กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
โรคซึมเศร้าพบได้ในคนทุกวัย อายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มมีอาการครั้งแรกประมาณ 40 ปี
พบได้ประมาณร้อยละ 3 ของประชากรทั่วไป ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (current prevalence) หรือร้อยละ 5-18 ของประชากรทั่วไปเมื่อติดตามไปชั่วชีวิต (lifetime prevalence)
พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า
*โรคอารมณ์แปรปรวน (mood disorders) เป็นภาวะผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ซึมเศร้าหดหู่อย่างรุนแรงกว่าปกติ บางครั้งอาจมีอารมณ์ดีมากผิดปกติสลับกับอารมณ์ซึมเศร้า โรคกลุ่มนี้แบ่งออกเป็นชนิดย่อยได้หลายชนิด ดังนี้
1. โรคซึมเศร้าหลัก (major depressive disorder/MDD) นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนที่พบได้บ่อย และมีความรุนแรงกว่าชนิดอื่น ๆ
2. โรคซึมเศร้าชนิดอ่อน (dysthymic disorder) เป็นภาวะซึมเศร้าที่มีอาการไม่รุนแรง แต่เรื้อรัง (นานอย่างน้อย 2 ปี) ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ เพียงแต่มีศักยภาพลดลง พบในเด็กโตและวัยรุ่น ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า แต่บางรายอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลักในเวลาต่อมาได้
3. โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder หรือ manic-depressive disorder) เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักพบเป็นครั้งแรกในช่วงอายุ 15-24 ปี ผู้ป่วยจะมีระยะฟุ้งพล่าน (mania) สลับกับระยะซึมเศร้า เป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ในระยะฟุ้งพล่าน ผู้ป่วยจะอารมณ์ดี ครื้นเครง ความคิดแล่นเร็ว มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงหรือหลงตัวเอง พูดมาก หงุดหงิดง่าย ทำกิจกรรมหลายอย่างมากกว่าปกติ นอนน้อย การรักษาในยาลิเทียม (lithium) ควบคุมอาการ
4. ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากโรคทางกาย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานน้อยหรือมากเกิน โรคคุชชิง โรคแอดดิสัน พาร์กินสัน เอสแอลดี เอดส์ เป็นต้น โรคเหล่านี้อาจมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย หญิงหลังคลอดบางรายก็อาจมีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นชั่วคราวได้
5. ภาวะซึมเศร้าจากแอลกอฮอล์ สารเสพติด และยา เช่น รีเซอร์ฟีน เมทิลโดพา โพรพราโนลอล สเตียรอยด์ ยาแก้ชัก ยานอนหลับ เมโทโคลพาไมด์ อินโดเมทาซิน เลโวโดพา ยารักษามะเร็งบางชนิด เป็นต้น
6. ภาวะซึมเศร้าจากความเครียดหรือปัญหาชีวิต เช่น การหย่าร้าง การสูญเสียคนรัก ความล้มเหลว ปัญหาสุขภาพ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจ็บป่วยร้ายแรง หรือเรื้อรัง) เป็นต้น มักจะมีอาการไม่รุนแรง และค่อย ๆ ดีขึ้นในเวลาไม่นาน แต่บางครั้งผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลักก็อาจมีความเครียดหรือปัญหาชีวิตกระตุ้นให้กำเริบก็ได้ ซึ่งจะเป็นรุนแรงและเรื้อรัง
สาเหตุ
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่ามีความผิดปกติของระบบการส่งผ่านประสาท (มีสารส่งผ่านประสาท เช่น นอร์เอพิเนฟรีน ซีโรโทนิน กรดแกมมาอะมิโนบูไทริกต่ำกว่าปกติ รวมทั้งมีความผิดปกติของตัวรับหรือรีเซปเตอร์ที่เกี่ยวข้อง) และประสาท-ต่อมไร้ท่อ (เชื่อว่ามีความผิดปกติของเซลล์สมองส่วนที่ควบคุมความคิด อารมณ์ การเคลื่อนไหวของร่างกายและการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ )
ความผิดปกติเหล่านี้อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ รวมทั้งปัจจัยด้านจิตใจและสังคม
ด้านกรรมพันธุ์ พบว่าผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
ด้านจิตใจ พบว่าผู้ป่วยมักมีแนวคิดโน้มนำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองโลกในแง่ร้าย มองตนเองในแง่ลบ มองเห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง เป็นต้น
ด้านสังคม เช่น การหย่าร้าง การสูญเสียคู่ชีวิต อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้า การมีคนคอยดูแลช่วยเหลืออาจมีส่วนช่วยให้อาการของโรคนี้ทุเลา
อาการ
ที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยรู้สึกซึมเศร้าหดหู่ สะเทือนใจ และร้องไห้ง่าย บางครั้งอาจบอกว่ารู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งต่าง ๆ ไปหมด และจิตใจไม่รู้สึกสดชื่นเหมือนเดิม ความรู้สึกเหล่านี้จะเป็นอยู่เกือบทั้งวัน และติดต่อกันแทบทุกวัน เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้ป่วยมักมีอารมณ์หงุดหงิด ทนเสียงดังหรือคนรบกวนไม่ได้ อยากอยู่เงียบ ๆ คนเดียว
ผู้ป่วยมักมีอาการนอนไม่หลับ หรือนอนมากกว่าปกติ อาการนอนไม่หลับมักจะเป็นแบบสะดุด กล่าวคือ ผู้ป่วยจะนอนหลับในช่วงแรก ๆ ที่เข้านอน แต่พอตื่นตอนกลางดึกจะนอนไม่หลับ บางรายก็อาจมีอาการนอนหลับยากตั้งแต่แรกที่เข้านอน
มักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด แต่บางรายอาจมีความรู้สึกอยากอาหารและน้ำหนักขึ้น
นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอ่อนเพลียตลอดทั้งวัน ทำอะไรเชื่องช้า เฉื่อยช้าลง อยากอยู่เฉย ๆ นาน ๆ (แต่บางรายอาจมีอาการกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข นั่งได้สักพักหนึ่งก็ต้องลุกขึ้นเดินไปมา) คิดนาน ขาดสมาธิ เหม่อลอย หลงลืมง่าย มีความลังเลในการตัดสินใจ ไม่มั่นใจตนเอง มองโลกในแง่ลบ รู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า หรือรู้สึกผิด กล่าวโทษหรือตำหนิตนเอง
กว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยมีความคิดอยากตาย โดยช่วงแรกรู้สึกเบื่อชีวิต เมื่ออาการมากขึ้นจะรู้สึกอยากตาย คิดถึงการฆ่าตัวตาย ต่อมาถึงขั้นวางแผนและวิธีการฆ่าตัวตาย และในที่สุดลงมือกระทำการฆ่าตัวตาย (พบได้ประมาณร้อยละ 15 ของผู้ป่วย)
ผู้ป่วยบางรายอาจไปปรึกษาแพทย์ด้วยอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผอมลง เวียนศีรษะ ปวดตามส่วนต่าง ๆ (เช่น ศีรษะ หน้าอก หลัง แขนขา) อย่างเรื้อรัง ประจำเดือนไม่มา ไม่มีความรู้สึกทางเพศ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีน้ำหนักตัวน้อยหรือมากเกิน
มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น การประกอบอาชีพ การงาน การเรียน การเข้าสังคม ความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ที่สำคัญ คือ มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือขาดการรักษา หรือเผชิญปัญหาวิกฤติ เช่น การหย่าร้าง การสูญเสียคนรัก การตกงาน ความล้มเหลว เป็นต้น โดยเฉลี่ยผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า มีอัตราฆ่าตัวตายประมาณร้อยละ 15
ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายอาจแสดงอาการ เช่น มีอารมณ์แกว่งขึ้นลงบ่อย มีอารมณ์ดีขึ้นฉับพลันหลังจากซึมเศร้ามานาน อดนอนหลายคืน ข่มขู่หรือลงมือกระทำการรุนแรง ชอบพูดถึงความตาย มีพฤติกรรมแยกตัวหรือไม่ร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น พูดบอกลาเพื่อน ยกสิ่งของทรัพย์สินให้ผู้อื่น มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างผิดปกติ (เช่น ซื้อปืน ขับรถเร็ว เสพยา) เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก
การตรวจร่างกายมักไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน
มักจะพบความผิดปกติของสภาพจิต ได้แก่ สีหน้าซึมเศร้า พูดช้า พูดน้อย เสียงเบา ใช้เวลาคิดนานกว่าจะตอบคำถามและตอบสั้น ๆ หรือถามคำตอบคำ
อาจมีการเคลื่อนไหวช้าหรือมากกว่าปกติ ไม่ค่อยสบสายตา น้ำตาคลอเบ้า มองลงต่ำ
มีความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง เบื่อชีวิต หรืออยากตาย
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
1. มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 5 ข้อ ต่อเนื่องกันนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยต้องมีอาการในข้อ ก. หรือ ข. ร่วมด้วย
ก. มีอารมณ์ซึมเศร้าเกือบตลอดวันและแทบทุกวัน (โดยผู้ป่วยรู้สึกเอง หรือผู้อื่นสังเกตเห็น)
ข. ความสนใจหรือความสนุกในสิ่งต่าง ๆ ลดลงอย่างมากเกือบตลอดวันและแทบทุกวัน
ค. น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 ใน 1 เดือน หรือมีความรู้สึกเบื่ออาหารหรืออยากอาหารแทบทุกวัน
ง. นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติแทบทุกวัน
จ. มีอาการเคลื่อนไหวมากขึ้น (เช่น กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข) หรือลดลงอย่างมาก (เช่น ชอบอยู่เฉย ๆ หรือทำอะไรเชื่องช้าลง) แทบทุกวัน
ฉ. รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง แทบทุกวัน
ช. รู้สึกว่าตนเองไร้ค่าหรือรู้สึกผิดแทบทุกวัน
ซ. ความสามารถในการคิดการอ่านลดลง ขาดสมาธิ หรือมีความลังเลในการตัดสินใจแทบทุกวัน
ฌ. มีความคิดเรื่องการตายหรือการฆ่าตัวตายอยู่เรื่อย ๆ หรือมีแผนในการฆ่าตัวตาย หรือพยายามกระทำการฆ่าตัวตาย
2. อาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานหรือทำให้การทำงาน การเข้าสังคม และหน้าที่สำคัญอื่นบกพร่องลงอย่างมาก
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม SSR2 เช่น ฟลูออกซีทีน
หากมีอาการวิตกกังวลหรือกระวนกระวายร่วมด้วย ก็จะให้ยากล่อมประสาท
หากมีอาการนอนไม่หลับ ก็จะให้ยานอนหลับ กินก่อนนอน
ในรายที่มีอาการรุนแรง หรือมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และป้องกันไม่ให้มีการทำลายตัวเอง แพทย์จะพิจารณาปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องให้ยารักษาต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2-3 ปี
ในรายที่ให้ยารักษาไม่ได้ผล หรือทนต่ออาการข้างเคียงของยาไม่ได้ หรือมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง แพทย์อาจทำการรักษาด้วยไฟฟ้า (electroconvulsive therapy/ECT) วิธีนี้เพียงแต่ช่วยให้อาการดีขึ้น ไม่ได้ป้องกันไม่ให้อาการกำเริบซ้ำ ดังนั้นจะต้องให้ยารักษาต่อเนื่องแม้หลังจากอาการดีขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น จิตบำบัดซึ่งมีอยู่หลายวิธี แสงบำบัด (light therapy) ในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล (seasonal affective disorder)
ผลการรักษา การใช้ยานับว่าได้ผลดีมากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งจะลดระยะอาการลงเหลือประมาณ 3 เดือน ถ้าไม่รักษามักมีอาการประมาณ 9 เดือน ซึ่งจะทุเลาไปได้เอง แต่ก็จะกำเริบได้อีกในเวลา 6 เดือนต่อมา
หลังหยุดยา อาจมีอาการกำเริบได้ใหม่ประมาณร้อยละ 50 (สำหรับอาการป่วยครั้งแรก) ร้อยละ 70 (สำหรับอาการป่วยครั้งที่ 2) และร้อยละ 90 (สำหรับอาการป่วยครั้งที่ 3)
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอารมณ์ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เบื่อชีวิต คิดอยากตาย หรือคิดฆ่าตัวตาย ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคซึมเศร้า ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา( เช่น มีลมพิษ
ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
สำหรับโรคซึมเศร้าหลัก (Major depressive disorder) ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
หากมีอาการ ควรปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ และติดตามรักษากับแพทย์เพื่อควบคุมอาการ
ข้อแนะนำ
1. เมื่อพบผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า (มีอารมณ์ซึมเศร้า) หดหู่ หรือรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสิ่งต่าง ๆ ไปหมด) แพทย์จะทำการถามประวัติและตรวจดูอาการอย่างละเอียด เพื่อแยกแยะสาเหตุ บางครั้งอาจเกิดจากโรคทางกาย แอลกอฮอล์ สารเสพติด ยา ความเครียด หรือปัญหาชีวิต หรือเป็นอาการของโรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคซึมเศร้าชนิดอ่อน บางรายอาจพบร่วมกับโรคกังวล ซึ่งมีวิธีการดูแลรักษาแตกต่างกันไป
ส่วนโรคซึมเศร้า (โรคซึมเศร้าหลัก) จะวินิจฉัยเมื่อมีอาการครบถ้วนตามเกณฑ์การวินิจฉัย
2. โรคซึมเศร้า หากไม่ได้ให้ยารักษา มักมีอาการต่อเนื่องประมาณ 9 เดือน ซึ่งจะทุเลาไปเอง หากได้ยารักษาจะมีอาการอยู่ประมาณ 3 เดือน บางรายอาจเป็นเพียงครั้งเดียวแล้วไม่เป็นซ้ำอีก บางรายอาจกำเริบซ้ำซากหรือเรื้อรังตลอดชีวิต แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัว ดังนี้
พบแพทย์เป็นประจำตามนัด และกินยาอย่างต่อเนื่อง อย่าปรับยาหรือหยุดยาเองจนกว่าแพทย์จะแนะนำ การรักษาด้วยยาอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ไปแล้วกว่าจะเห็นผล
สามารถดำเนินชีวิตตามปกติ อย่าแยกตัวออกจากผู้อื่น การมีญาติหรือเพื่อนช่วยดูแลช่วยเหลือ มีส่วนช่วยให้อาการทุเลาได้
ดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ
หลีกเลี่ยงการเสพเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสารเสพติด
3. โรคนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง (สารส่งผ่านประสาท) และการทำหน้าที่ผิดปกติของสมองบางส่วน ซึ่งอาจถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ผู้ป่วยบางรายจึงอาจมีอาการกำเริบโดยไม่มีปัญหาด้านจิตใจและสังคมเป็นเหตุกระตุ้นก็ได้ คืออยู่ดี ๆ ก็มีอาการกำเริบขึ้นมาเอง ควรอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงธรรมชาติของโรคนี้ ยอมรับ และหาทางดูแลรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมอาการและดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้
4. ญาติและคนใกล้ชิด ควรให้การดูแลช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ป่วยในการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ควรรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล หรือหาทางป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย
5. ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า บางครั้งอาจมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการไม่สบายทางกาย เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผอมลง ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดข้อ หรือปวดเมื่อยตามตัวแบบเรื้อรัง เป็นต้น หากให้ยารักษาตามอาการระยะหนึ่งแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะซักถามอาการของโรคซึมเศร้าอย่างละเอียด เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและให้ยาแก้ซึมเศร้าอาการต่าง ๆ ก็จะทุเลาได้