โรคความดันโลหิตสูงเสี่ยงโรคร้ายถามหาความดันโลหิตสูงหลายคนอาจมองว่าไม่น่าห่วง ทั้งที่ความจริงแล้วอันตรายอย่างมาก ไม่ว่าจะอายุน้อยหรืออายุมากก็มีโอกาสเป็นได้ ยิ่งอายุเพิ่มขึ้นยิ่งเสี่ยงความดันโลหิตสูงมากขึ้น ที่น่าห่วงคือบางคนกว่าจะรู้ว่าเป็นความดันโลหิตสูง ร่างกายก็มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงแล้ว จึงไม่ควรชะล่าใจและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติก่อนสายเกินไป
รู้จักความดันโลหิต
ความดันโลหิต คือ ค่าความดันเลือดที่เกิดจากการบีบตัวของหัวใจเพื่อไหลเวียนนำออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกาย การวัดความดันโลหิตบ้าง แม้ไม่มีอาการอะไรช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ โดยค่าความดันเลือด แบ่งออกเป็น
ค่าความดันตัวบน เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัว
ค่าความดันตัวล่าง เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจคลายตัว
ความดันโลหิตสูงต้องรู้
โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เกิดจากการที่ความดันเลือดสูงกว่าปกติ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 ติดต่อกันเป็นเวลานาน มักไม่แสดงอาการ แต่ส่งผลเสียต่อหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิต หรือพิการอาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจหนา เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ไตวาย เป็นต้น การรู้ตัวว่าความดันโลหิตสูงตั้งแต่ระยะแรกนั้นสำคัญ ช่วยให้ควบคุมระดับความดันโลหิตและลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
เช็กระดับความดันโลหิตสูง
การวัดความดันโลหิตควรวัดซ้ำ 2 – 3 ครั้งในภาวะที่ไม่รีบร้อนเพื่อให้มั่นใจว่าค่าความดันโลหิตไม่คลาดเคลื่อน
ค่าความดันตัวบน (มม./ปรอท) ค่าความดันตัวล่าง (มม./ปรอท) ระดับความดันโลหิต
<120 < 80 ปกติ
120 – 139 80 – 89 ภาวะก่อนความดันโลหิตสูง
≥ 140 ≥ 90 ความดันโลหิตสูงขั้นที่ 1
≥ 160 ≥ 100 ความดันโลหิตสูงขั้นที่ 2
ปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงพบได้ 1 ใน 5 ของคนไทย จากการที่เส้นเลือดมีความเสื่อมตามวัย เมื่อความดันเพิ่มขึ้น เส้นเลือดจะแข็งและกระด้างมากขึ้น นอกจากนี้หากมีปัจจัยกระตุ้นอย่างกรรมพันธุ์ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารรสจัด ความเครียด การพักผ่อนน้อย ยิ่งเสี่ยงความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น
อาการเตือนความดันโลหิตสูง
ปวดศีรษะ
ปวดท้ายทอย
เวียนศีรษะ
ดูแลรักษาความดันโลหิตสูง
หากผู้ป่วยความดันโลหิตสูงยังมีอาการไม่มาก แพทย์เฉพาะทางจะเน้นในเรื่องการปรับพฤติกรรม อาทิ
ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
กินอาหารสุขภาพ Dash Diet
เน้นกินผักผลไม้
ลดหวาน มัน เค็ม
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
งดสูบบุหรี่
จำกัดการดื่มแอลกอฮฮล์
นอกจากนี้การรักษาส่วนใหญ่แพทย์อาจให้รับประทานยาเพิ่มเติมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในอนาคต
ออกกำลังให้ความดันไม่ขึ้น
การออกกำลังกายในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเน้นการเคลื่อนไหวมากกว่าการใช้แรงอย่างเดียว 150 – 200 นาทีต่อสัปดาห์ ไม่ควรยกน้ำหนักที่หนักมาก ๆ เพราะอาจความดันขึ้นสูงได้ ควรต้องระมัดระวังหรือปรึกษาผู้ชำนาญการ และควรมีวันพักให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อย่าออกกำลังกายแบบหักโหมจนเกินไป
หากรู้เร็วและรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ไวจะช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ 35 – 40% ลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตัน 20 – 25% และลดการเกิดโรคหัวใจล้มเหลวได้มากกว่า 50% จึงควรวัดความดันอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจเช็กร่างกายว่าความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ