ปี 2552 เป็นปีแรก ที่องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ วัน2 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันปอดอักเสบโลก (World Pneumonia Day) ทำไมโรคปอดอักเสบ หรือปอดบวมในเด็ก จึงมีความสำคัญ ลองมาทำความเข้าใจ กับโรคนี้กันค่ะ
โรคปอดอักเสบหรือปอดบวมในเด็ก (Childhood pneumonia) คืออะไร??
คือ การอักเสบ ติดเชื้อของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลมและถุงลม ทำให้ความสามารถในการทำงานของอวัยวะเหล่านี้ลดลง
• โรคปอดบวมเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป เกิดได้กับคนทุกวัย เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรง บางครั้งอาจทำให้เกิดความพิการ หรือทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย
• ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ในช่วงปี 2000 ทั่วโลกมีเด็กที่เป็นปอดอักเสบ ประมาณ 156 ล้านคน ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 95 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ป่วยร้อยละ 8.7 มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุของการตายเป็นอันดับหนึ่งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ในแต่ละปีจะมีเด็กทั่วโลกที่เสียชีวิตจากปอดอักเสบปีละ 2 ล้านคน (ผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตจากปอดอักเสบ 1 คน ทุก 15 วินาที) ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ข้อมูลจาก WHO 2009)
• ในประเทศกำลังพัฒนา พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว 12-15 เท่า
• สำหรับประเทศไทย พบว่า โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่พบได้มากและยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เพราะอัตราป่วยและอัตราตายสูง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2542 – 2548 อัตราการเกิดโรคปอดอักเสบในเด็กไม่ได้ลดลง และอัตราตายในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ก็ไม่ได้ลดลงเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว (อัตราการป่วยของโรคปอดอักเสบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 6.2 ต่อปี) นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รอดชีวิตอาจจะประสบกับภาวะแทรกซ้อน หากมิได้แก้ไขจะทำให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กและก่อให้เกิดความพิการขึ้นได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี มีอัตราตายสูงที่สุด
โรคปอดอักเสบเกิดจากอะไร??
• สาเหตุของโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียร่วมกัน ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อรา พยาธิหรืออาจเกิดจากการแพ้ หรือการระคายเคืองต่อสารที่สูดดมเข้าไป
• จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดปอดอักเสบในเด็กในประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) และ เชื้อฮิบ (Hib) ส่วนเชื้อไวรัสส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ respiratory syncytial virus (RSV) ซึ่งในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกัน
• ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในเด็กส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส
• มักเกิดจากการสัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลายหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อ ส่วนใหญ่แล้วยังไม่มียาต้านไวรัส ยกเว้นไวรัสไข้หวัดใหญ่ร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสโดยสร้างภูมิต้านทานมาทำลายเชื้อไวรัส ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาจดีขึ้นได้เอง และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ
• ส่วนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในเด็กที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนั้น พบว่าเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากที่สุด เพราะเชื้อแบคทีเรียนี้อาจพบอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอของคนเรา เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือเยื่อบุดังกล่าวถูกทำลาย เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะหลุดเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเกิดจากการสูดสำลักเอาเชื้อก่อโรคที่อยู่บริเวณคอเข้าไปในหลอดลมส่วนปลายหรือถุงลมปอด ถ้าจำนวนเชื้อที่สูดสำลักเข้าไปที่ถุงลมมมากเกินกว่าร่างกายจะกำจัดออกได้ เชื้อเหล่านี้จะแบ่งตัวและก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบตามมา ทำให้เนื้อปอดถูกทำลาย การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงทำให้ผู้ป่วยขาดออกซิเจนได้
• เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี เช่น การสูดหายใจเข้าไป การสำลัก การกระจายของเชื้อตามกระแสเลือดไปสู่ปอด
• ในภาวะปกติระบบหายใจในร่างกายจะมีกลไกในการป้องกันไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคเข้าสู่หลอดลมหรือถุงลมปอดโดยร่างกายมีจมูกเป็นอวัยวะในการกรองเชื้อโรค และฝุ่นละอองไม่ให้เข้าสู่ปอดและขับสิ่งต่างๆ ออกจากร่างกายโดยการไอ นอกจากนี้ในถุงลมปอดยังมีกลวิธีในการกำจัดเชื้อหลายอย่าง เช่น เชื้ออาจถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยมีเม็ดเลือดขาวมากินเชื้อโรคหรือมีระบบภูมิคุ้มกันมาทำลายเชื้อโรค เมื่อความสมดุลระหว่างเชื้อก่อโรคและกลไกในการป้องกันเชื้อโรคของระบบหายใจเสียไป ผู้ป่วยก็มีโอกาสเกิดโรคปอดอักเสบได้
• ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ สมองและกระแสเลือด เป็นต้น ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น
โรคปอดอักเสบในเด็กมีลักษณะอาการอย่างไร??
• อาการของผู้ป่วยโรคปอดอักเสบแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค
• อาการที่สำคัญของโรคปอดอักเสบในเด็กส่วนใหญ่ ได้แก่ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย
• ในบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ร้องกวนและงอแง ผู้ป่วยบางรายจะมีหนาวสั่นได้
• อาการในเด็กทารกส่วนมากจะไม่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ อาจมีอาการซึม อาเจียน และไม่ยอมดูดนมหรือน้ำ
• ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส มักมีอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้นนำมาก่อน เช่น ไข้ น้ำมูก ไอมีเสมหะ ต่อมาผู้ป่วยเริ่มมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว จมูกบาน ซี่โครงบาน และตัวเขียวได้ ส่วนมากอาการไม่รุนแรง อาจดีขึ้นได้เองและมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ
• ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียมักจะมีอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ดูป่วยหนัก ไอมากและมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วยได้
ผู้ป่วยเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอักเสบ
• เด็กที่อายุน้อย
• เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย เด็กคลอดก่อนกำหนด
• เด็กที่มีภาวะทุโภชนาการ
• เด็กที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคทางสมอง
• เด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำหรืออยู่ในชุมชนแออัด สุขาภิบาลไม่ดี
• เด็กที่ได้รับควันบุหรี่จากบุคคลรอบข้าง
• เด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีเด็กมากๆ
การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบในเด็ก
• จากการซักถามประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจระบบทางเดินหายใจ
• องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้อัตราการหายใจเป็นการประเมินผู้ป่วยที่มีประวัติไข้และไอเป็นอาการนำ อัตราการหายใจเป็นตัวอาการบ่งชี้ที่มีความไวและมีความจำเพาะที่ดีที่สุดในการให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นปอดอักเสบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี
อัตราการหายใจที่ผิดปกติในกลุ่มอายุต่างๆ ในเด็กมีดังต่อไปนี้
• อายุแรกเกิดถึง 2 เดือน อัตราการหายใจไม่ควรเกิน 60 ครั้ง/นาที
• อายุ 2 เดือนถึง 12 เดือน อัตราการหายใจไม่ควรเกิน 50 ครั้ง/นาที
• อายุ 12 เดือน ถึง 5 ปี อัตราการหายใจไม่ควรเกิน 40 ครั้ง/นาที
• การตรวจหาเชื้อก่อเหตุทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจเสมหะ การเพาะเชื้อ การตรวจน้ำเหลือง และการตรวจแอนติเจน
• ในปัจจุบัน เนื่องจาก สถานการณ์การระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Pandemic influenza) และไวรัสบางชนิด จึงนิยมตรวจแอนติเจนของไวรัสบางชนิด เช่น RSV และ INFLUENZA ซึ่งจะมีประโยชน์ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
• การตรวจภาพรังสีทรวงอก (เอ็กซเรย์ปอด)
• ในบางรายที่มีปัญหาในการวินิจฉัยอาจพิจารณาส่องกล้องผ่านทางหลอดลม
การรักษาโรคปอดอักเสบในเด็ก
• ขึ้นกับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค
• ผู้ป่วยปอดอักเสบและมีอาการไม่รุนแรงมาก เช่น มีไข้ ไอ และหายใจเร็วไม่มากนัก แพทย์อาจจะให้การรักษาให้ยาปฏิชีวนะรับประทาน (ในกรณีที่สงสัยว่าปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย) และนัดผู้ป่วยมาดูเป็นระยะๆ ได้
• ผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีมักได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ความรุนแรงของภาวะขาดน้ำ ภาวะพร่องออกซิเจน และยังอาจพิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือด
• การให้ออกซิเจน แพทย์จะพิจารณาให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่เขียวหอบมาก ซึมกระวนกระวาย ไม่ยอมกินนมและน้ำ หายใจเร็วมากกว่า 70 ครั้งต่อนาที
• การให้น้ำและอาหาร ต้องให้พอเพียงกับความต้องการของผู้ป่วย ช่วยลดความเหนียวของเสมหะ และสามารถขับเสมหะออกจากร่างกายโดยการไอได้ง่ายขึ้น ลดการคั่งค้างของเสมหะที่อุดกั้นทางเดินหายใจในเด็กได้และยังเป็นการทดแทนการสูญเสียน้ำจากร่างกายผู้ป่วยซึ่งเกิดจากภาวะไข้สูง หายใจหอบเร็ว
• ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ การเลือกยาในกลุ่มใดต้องพิจารณาถึงอายุของผู้ป่วย ประวัติการสัมผัสเชื้อ โอกาสที่เชื้อจะดื้อยา และอาศัยข้อมูลจากการซักถามประวัติอาการอื่นๆประกอบ
• การรักษาอื่น ๆ คือ ยาลดไข้ การเคาะปอดเพื่อให้เสมหะออกได้ การให้ยาขยายหลอดลม ฯลฯ
ผู้ป่วยปอดอักเสบในเด็กที่มีอาการหนักต้องรับไว้ในโรงพยาบาล
• ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 6 เดือน
• ผู้ป่วยที่มีอาการหอบมาก ต้องการออกซิเจน
• ผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
• ผู้ป่วยที่กินยาแล้วไม่ได้ผล
• ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
• พ่อแม่ไม่แน่ใจว่าจะดูแลเด็กได้ดีพอหรือไม่
การพยากรณ์โรค
• ผู้ป่วยมีโอกาสหายดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคปอดบวม การรักษาที่เหมาะสม ภาวะแทรกซ้อน และสุขภาพพื้นฐานของตัวผู้ป่วยเอง
• บางรายงานพบว่าผู้ป่วยปอดอักเสบในวัยเด็กจะมีความสัมพันธ์กับสมรรถภาพปอดที่ลดลงกว่าปกติเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบจากเชื้อที่รุนแรง เช่น เชื้อหัด เชื้อไข้หวัดใหญ่ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน คือ หลอดลมบางส่วนเสียแบบถาวร (Bronchiectasis) เป็นต้น
ทำอย่างไรจึงจะปกป้องลูกน้อยจากโรคปอดอักเสบได้??
• การเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรงและสร้างสุขอนามัยที่ดี ด้วยการล้างมือเป็นประจำจะช่วยลดการติดเชื้อที่สัมผัสติดมากับมือได้ หรือใส่หน้ากากอนามัย
• ควรเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชนและสถานที่แออัดเป็นเวลานานๆ
• หากบุตรหลานของท่านมีอาการไข้ ไอ หอบ ควรรีบพามาพบแพทย์โดยเร็วเพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
• ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนสำหรับป้องกันโรคปอดบวม (Hib vaccine, Pneumococcal vaccine) รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine)
โรคปอดอักเสบหรือปอดบวมในเด็ก (Childhood pneumonia) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/151